วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แพ้ยาทำไมไม่ต้องหยุดยา

 

หลายครั้งที่เภสัชกรได้รับคำถามว่า “รับประทานยาขนานใดขนานหนึ่งเข้าไปแล้วมีอาการ...จำเป็นต้องหยุดรับประทานทันทีหรือไม่” คำตอบที่ได้รับ อาจจะไม่จำเป็นต้องหยุดยาเสมอไป ก่อนอื่นคงต้องอธิบายคำว่า “อาการข้างเคียงของยา” กับ “อาการแพ้ยา” ให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความแตกต่างกัน
“อาการข้างเคียงของยา” เป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้จากคุณสมบัติของยา ซึ่งเกิดขึ้นได้ในการใช้ยาขนาดปกติในการรักษา แต่เป็นผลที่นอกเหนือจากผลการรักษาที่ต้องการ ซึ่งแพทย์และเภสัชกรมักจะแนะนำขณะสั่งยาหรือจ่ายยาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวล เช่น อาการมึนงงศีรษะ เมื่อได้รับยาขยายหลอดเลือด และเนื่องจากอาการเหล่านี้ เราทราบว่าเกิดจากคุณสมบัติของยา จึงสามารถหาทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ เช่น การรับประทานอาหารทันทีเพื่อลดอาการข้างเคียงของยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือการรับประทานยาในเวลาเย็นหรือก่อนนอน ในกรณีใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ส่วน
"อาการแพ้ยา" เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่ได้ขึ้นกับขนาดของยา ถึงแม้ว่าจะได้รับยาชนิดนั้นในปริมาณมากหรือน้อยก็เกิดอาการแพ้ได้ ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ใดบ้าง แต่อาจคาดการณ์ได้จากการแพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อน หรือมีประวัติครอบครัวที่แพ้ยาอยู่ อาการแพ้ยาที่พบคือ ปฏิกิริยาที่ร่างกายพยายามต่อต้านสิ่งที่มากระตุ้น เช่น อักเสบ บวม แดง คัน อาจจะมีอาการเล็กน้อยในครั้งแรก และเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับยาครั้งถัดไป อาจเกิดหลังรับประทานยาไปแล้วหลายวัน หรือเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ห่างไปนาน เมื่อได้รับประทานยานี้เป็นครั้งที่ 2 แต่บางครั้งก็มีอาการรุนแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากการให้ยาฉีด ซึ่งถ้าไม่รีบแก้ไขให้ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้น เมื่อท่านใช้ยาแล้วพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรรีบสอบถามแพทย์ และเภสัชกรถึงความจำเป็นการหยุดยา เพื่อให้มั่นใจว่าท่านจะได้รับความปลอดภัย และประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ยา

ที่มา: http://www.bangkokhealth.com/index.php/2009-01-20-09-19-07/2124-2009-04-08-10-01-35

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น